สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
วิศวกรรมโยธา (Civil Engineering) ?
วิศวกรรมโยธา เป็นศาสตร์ของสาขาหนึ่งในทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ครอบคลุมการก่อสร้างอาคาร สะพาน ถนน ระบบขนส่งอื่นๆ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น เขื่อน คลอง ตลอดจนการทำรังวัดในงานสำรวจและแผนที่ รวมไปถึงการวิเคราะห์ทางธรณีและชลศาสตร์ และการบริหารจัดการการก่อสร้าง งานในทางด้านวิศวกรรมจะเน้นทางด้านการใช้วัสดุและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ที่ประกอบวิชาชีพในสาขานี้เรียกว่า “วิศวกรโยธา” ในการทำงานในประเทศไทยผู้ที่ประกอบวิชาชีพจะขึ้นทะเบียนกับสภาวิศวกรเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (กว.) วิศวกรรมโยธาประกอบด้วยสาขาย่อยหลายๆ สาขา ดังนี้
วิศวกรรมโครงสร้าง (Structural Engineering) ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบและคำนวณ โครงสร้างของสิ่งก่อสร้าง และแรงต้านทานของวัสดุ เพื่อหาวัสดุและขนาดของวัสดุที่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ งานที่เกี่ยวข้องได้แก่ การก่อสร้างอาคาร เขื่อนหรือสะพาน เป็นต้น
วิศวกรรมก่อสร้างและการจัดการ (Construction Engineering and Management) ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างอาคาร การวางแผนงาน การประเมินราคาค่าก่อสร้าง นอกจากนี้อาจเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าระบบปรับอากาศ และระบบสุขาภิบาลภายในอาคาร
วิศวกรรมเทคนิคธรณี (Geotechnical engineering) ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางด้านฟิสิกส์และวิศวกรรมของดิน เพื่อการวิเคราะห์ ออกแบบ และแก้ปัญหาด้านวิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ (Water Resource engineering) ศึกษาเกี่ยวกับงานทางด้านแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำฝน และระบบการระบายน้ำ รวมทั้งการก่อสร้างคู คลอง และแม่น้ำ
วิศวกรรมสำรวจ (Survey Engineering) ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการทำรังวัดและงานทางด้านสำรวจ สำหรับใช้ในทางด้านแผนที่ จีพีเอส (GPS) ภูมิสารสนเทศ (Geographic information system;GIS) และอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV)
วิศวกรรมขนส่งและจราจร (Transportation and Traffic Engineering) ศึกษาเกี่ยวกับงานทาง การวางผังการจราจร การจัดการ ควบคุมงานและแก้ไขปัญหาการจราจร การคาดการณ์ความต้องการในการเดินทาง การวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ กระบวนการสร้างถนนและวัดสุผิวทาง
วิศวกรรมโยธา-สิ่งแวดล้อม (Environmental Civil Engineering) ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการระบบสิ่งแวดล้อมในน้ำและในอากาศ การปรับปรุงคุณภาพของของเสีย
วิศวกรรมโยธา-ระบบราง (Railway Civil Engineering) ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบ ก่อสร้าง ซ่อมบำรุง และการดำเนินงานของระบบการขนส่งทางราง
จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรม
ส่วนที่ ๑ จรรยาบรรณต่อสาธารณะ
ข้อ ๕ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องประกอบวิชาชีพโดยให้ความสําคัญต่อความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพของสาธารณชน ตลอดจนทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อมอันเป็นสาธารณะด้วย
ข้อ ๖ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องละเว้นจากการให้การสนับสนุน ส่งเสริม หรือเป็นตัวการ เกี่ยวกับการทุจริตในโครงการของภาครัฐหรือเอกชน
ส่วนที่ ๒ จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
ข้อ ๗ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องประกอบวิชาชีพวิศวกรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบ และระมัดระวัง
ข้อ ๘ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องปฏิบัติงานตามหลักปฏิบัติและวิชาการ
ข้อ ๙ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องไม่ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเกินความสามารถ และความเชี่ยวชาญที่ตนเองจะกระทําได้
ข้อ ๑๐ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องไม่ลงลายมือชื่อเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ในงานที่ตนไม่ได้ทํา
ข้อ ๑๑ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องไม่โฆษณาหรือยอมให้ผู้อื่นโฆษณา ซึ่งการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเกินความเป็นจริง
ข้อ ๑๒ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องไม่เรียก รับ ยอมจะรับ หรือให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อย่างใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม
ข้อ ๑๓ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องไม่ใช้อํานาจหน้าที่โดยไม่ชอบธรรม หรือใช้อิทธิพล หรือให้ผลประโยชน์แก่บุคคลใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับหรือไม่ได้รับงาน
ส่วนที่ ๓ จรรยาบรรณต่อผู้ว่าจ้าง
ข้อ ๑๔ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องไม่ละทิ้งงานโดยไม่มีเหตุอันควร
ข้อ ๑๕ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องไม่เปิดเผยความลับของงานที่ตนทํา เว้นแต่ ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ว่าจ้าง หรือเป็นการเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมาย
ข้อ ๑๖ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องไม่รับดําเนินงานชิ้นเดียวกันให้แก่ผู้ว่าจ้าง รายอื่นเพื่อการแข่งขันด้านเทคนิคหรือราคา เว้นแต่ได้แจ้งให้แก่ผู้ว่าจ้างรายแรกทราบล่วงหน้า เป็นลายลักษณ์อักษร หรือได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ว่าจ้างรายแรก และได้แจ้งให้ ผู้ว่าจ้างรายอื่นนั้นทราบล่วงหน้าแล้ว
ส่วนที่ ๔ จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมวิชาชีพ
ข้อ ๑๗ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องไม่แย่งงานจากผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ควบคุมอื่นเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
ข้อ ๑๘ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องไม่รับทํางาน หรือตรวจสอบงานชิ้นเดียวกันกับ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่นทําอยู่ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือเป็นความประสงค์ ของเจ้าของงานและได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่นนั้นทราบล่วงหน้าแลว้
ข้อ ๑๙ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องไม่ใช้หรือกระทําการในลักษณะคัดลอกแบบ รูป แผนผัง หรือเอกสารที่เกี่ยวกับงานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่น เว้นแต่จะได้รับอนุญาต เป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมนั้น
ข้อ ๒๐ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องไม่อ้างผลงานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ควบคุมอื่นมาเป็นของตนในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม
ข้อ ๒๑ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องไม่กระทําการใด ๆ โดยจงใจให้เป็นที่เสื่อมเสีย แก่ชื่อเสียง หรืองานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่น
ส่วนที่ ๕ เรื่องอื่น ๆ
ข้อ ๒๒ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องไม่กระทําความผิดในการประกอบวิชาชีพ วิศวกรรมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๒๗ หรือมาตรา ๒๖๙ จนศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุด ว่ามีความผิด
ข่าวสาร/ประชาสัมพันธ์
สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ขอแสดงความยินดีแก่ผศ.ดร.หริส ประสารฉ่ำ และทีมงานวิจัยทุกท่าน ที่ได้รับรางวัล Best Paper Award หมวด Water Resource เรื่อง การประเมินความเปราะบางของความต้องการน้ำเพื่ออุปโภค – บริโภคภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้แบบจำลองทางด้านอุทกวิทยาและดัชนีความยั่งยืนของลุ่มน้ำ (Assessing the vulnerability of water demand for consumption under climate change using hydrological model and watershed sustainability index (WSI))และนายจารุวัฒน์ คำหนูไทย นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิศวกรรมขนส่ง โดยมี อาจารย์ ดร.ธนพล พรหมรักษา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ที่ได้รับรางวัลบทความดีเด่น หมวดวิศวกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ (Transport and Logistics Engineering :TRL) เรื่อง Factor affecting the driver yielding behavior the midblock pedestrian crossings ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ยินยอมให้คนเดินเท้าข้ามทางม้าลายในช่วงถนนจากงานการประชุมวิชาการวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ ครั้งที่ 29 (The 29th National Convention on Civil Engineering) ระหว่างวันที่ 29 -31 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่
ในวันที่ 21 ต.ค. 2565 คณาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา เข้าร่วมแสดงความยินดีแก่ อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ ในโอกาสที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น
สาขาวิศวกรรมโยธา ได้จัดโครงการค่ายเตรียมสู่วิศวกรรมศาสตร์ ราชมงคลขอนแก่น ครั้งที่ 8 ในวันที่ 20 ตุลาคม 2565 และกิจกรรม “การแข่งขันโครงสร้างไม้ไอติม” ยินดีต้อนรับสู่รั้ววิศวกรรมศาสตร์ราชมงคลขอนแก่นครับ
สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ขอแสดงความยินดีกับคณาจารย์ในโอกาสที่สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตปี พ.ศ. 2565 ดังนี้
1.อ.ดร.ทรงพล ทรงแสงฤทธิ์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมโยธา ปริญญาดุษฎีบัณฑิต (ปรด.) วิศวกรรมแหล่งน้ำ (Water Resources) จาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
2.ผศ.ดร.วรรธนะ ประภาภรณ์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมโยธา Doctoral of Engineering (D.Eng.) Urban Development (พัฒนาเมือง) Saga University JAPAN
ประชาสัมพันธ์สำหรับนักศึกษาที่สนใจโครงการประกวดหนังสั้น “วิศวกรดีมีจรรยาบรรณ” ปีที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “มีดี-จรรยาดี ก็มั่งมีได้” ชิงเงินรางวัลรวม 80,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร รายละเอียดเพิ่มเติม https://citly.me/yVZMg
สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาและอาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน “การสำรวจเพื่อหาตำแหน่งหมุดเป้าหมาย” ในการแข่งขันราชมงคลวิชาการวิศวกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 13 จัดขึ้น ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2565
สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ขอแสดงความยินดีและชื่นชม
รองศาสตราจารย์ ดร.ปนัสชัย เชษฐ์โชติศักดิ์ ในโอกาสที่ได้รับการตีพิมพ์บทความวิจัย เดือน พฤษภาคม 2565 เรื่อง Strut-and-tie model for predicting shear strength of squat shear walls under earthquake loads ในวารสาร Engineering Structures Volume 256, 1 April 2022, 114042 (Q1)ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิภาณ แก้ววิเชียร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วุฒิไกร ไชยปัญหา ในโอกาสที่ได้รับการตีพิมพ์บทความวิจัย เรื่อง Smote vs. Random Undersampling for Imbalanced Data – Car Ownership Demand Model.
วารสาร Communications – Scientific letters of the University of Zilina. (Q3)
สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ขอแสดงความยินดีและชื่นชม คณาจารย์สาขาวิศวกรรมโยธา ในโอกาสได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทวิจัย ในผลงานเรื่อง “การประเมินประสิทธิภาพของพื้นที่จอดรถสัญญาณไฟจราจรเฉพาะจักรยานยนต์บนถนนในเขตเมือง”เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ผศ.ดร.ปฏิภาณ แก้ววิเชียร ผศ.ดร.วุฒิไกร ไชยปัญหา และ อ.ธนพล พรหมรักษา อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ร่วมกับ ผศ.ดร.พงษ์พันธ์ แทนเกษม และ อ.ดร.ปิยณัฐ จันโทสุทธิ์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่ง 2 ผลงานวิจัยเข้าร่วมประกวดในสัมมนาวิชาการระดับชาติความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทวิจัย ในผลงานเรื่อง “การประเมินประสิทธิภาพของพื้นที่จอดรถสัญญาณไฟจราจรเฉพาะจักรยานยนต์บนถนนในเขตเมือง”
25 พ.ค.2565 : สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ขอแสดงความยินดีกับ รศ.ดร.ปนัสย์ชัย เชษฐโชติศักดิ์ อ.สรศักดิ์ เซียวศิริกุล ผศ.ดร.อัศนัย ทาเภา ผศ.ดร.หริส ประสารฉ่ำ รศ.ดร.พัชรพล โพธิ์ศรี และผศ.พูนศรี ไชยคำหาญ เนื่องในโอกาสรับมอบใบประกาศเกียรติคุณบุคลากร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ประจำปี 2565 โดย อาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ ชามงคลประดิษฐ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นประธานเป็นประธานในพิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคลากรดีเด่น ประจำปี 2565 ณ ห้องประชุมนวราชมงคล ชั้น 3 อาคาร 50 ปี เทคนิค ไทย – เยอรมัน ขอนแก่น